วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556



ในปัจจุบันนี้คนเรามีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน ซึ่งการศึกษาทางไกลก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนก็สามารถเรียนรู้ได้ การศึกษาทางไกลได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการของสื่อและเทคโนโลยีเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากสื่อและเทคโนโลยีได้อย่างเต็มศักยภาพเพื่อให้โอกาสแก่ประชาชนได้เรียนรู้ได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา แม้ไม่ได้เรียนอยู่ในห้องเรียน และด้วยประสิทธิภาพของระบบโทรคมนาคมในการถ่ายทอดการสอนในลักษณะของการสื่อสารสองทางก็ยิ่งทำให้ผู้เรียนสามารถโต้ตอบกับผู้สอนได้ เป็นการเพิ่มประสิทธิผลของการเรียนให้มีมากยิ่งขึ้น

ความหมายของ"การศึกษาทางไกล"

การศึกษาทางไกล (Distance Education) หมายถึง ระบบการศึกษาที่ผู้เรียนและผู้สอนอยู่ไกลกัน แต่สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้ได้โดยอาศัยสื่อการสอนในลักษณะของสื่อประสมในหลายรูปแบบ เช่น หนังสือ เทปเสียง วีดิทัศน์ คอมพิวเตอร์ วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้เรียนยังสามารถศึกษาการเรียนรู้ด้วยตนเองและการบริหารการเรียนด้วยตนเองหรืออาจจะมีการสอนเสริมควบคู่ไปด้วยเพื่อให้ผู้เรียนสามารถซักถามปัญหาที่สงสัยจากผู้สอนเองหรือผู้สอนเสริม โดยที่การศึกษานี้อาจจะอยู่ในรูปแบบของการศึกษาอิสระ การศึกษารายบุคล หรือรูปแบบของมหาวิทยาลัยเปิดก็ได้




รูปแบบของการศึกษาทางไกล  DLRN Research Associate (1995) กล่าวว่า มี 2 รูปแบบ คือ ซิงโครนัส (Synchronous) และอะซิงโครนัส (Asynchronous

1. รูปแบบซิงโครนัส (Synchronous) เป็นรูปแบบที่ต้องการการเข้าร่วมพร้อมกันในบรรดาผู้เรียนและผู้สอนทั้งหมด ต้องมีการนัดเวลา สถานที่ และบุคคลประโยชน์ของรูปแบบซิงโครนัสก็คือปฏิสัมพันธ์ทีเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน รูปแบบซิงโครนัส ได้แก่ Interactive TV audio graphics, computer conferencing, IRC และ MOO

2. รูปแบบอะซิงโครนัส (Asynchronous)   เป็นรูปแบบที่ไม่ต้องการการเข้าร่วมพร้อมกันในบรรดานักเรียน และผู้สอน นักเรียนไม่ต้องรวมกลุ่มในสถานที่เดียวกันและเวลาเดียวกัน นักเรียนอาจจะเลือกช่วงเวลา และวัสดุการเรียนการสอนด้วยตัวเอง ประโยชน์ของการศึกษาทางไกลรูปแบบนี้คือ ทางเลือกของผู้เรียนในเรื่องสถานที่และเวลา และมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนทั้งหมด ส่วนข้อจำกัดก็คือปฏิกิริยาสัมพันธ์นั้นขึ้นอยู่กับการใช้อีเมล์ซึ่งต้องอาศัยการเขียนในการติดต่อแลกเปลี่ยนกัน

องค์ประกอบหลักของการศึกษาทางไกล

                 1. ผู้เรียน จะเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนจะมีอิสระในการกำหนดเวลา สถานที่ และวิธีเรียนของตนเอง โดยสามารถเรียนรู้ได้จากแหล่งทรัพยากรเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น เอกสารประกอบการสอนในรูปแบบของบทเรียนด้วยตนเอง คอมพิวเตอร์ช่วยสอนและระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
2. ผู้สอน จะเน้นการใช้สื่อการสอนที่มีคุณภาพและหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองหรือเรียนเสริมภายหลัง เนื่องจากผู้สอนมีโอกาสพบปะผู้เรียนโดยตรงน้อยมาก
3. การจัดการระบบบริหารและบริการ เปิดการจัดโครงการสร้างอื่นมาเสริมแรงการสอนทางไกลโดยตรง เช่น อาจมีครูที่ปรึกษาประจำตัว ผู้เรียนมีศูนย์บริการการศึกษาที่ใกล้ตัวเรียน รวมทั้งระบบการผลิตและจัดส่งสื่อให้ผู้เรียนโดยตรงอย่างมีประสิทธิภาพ
4. การควบคุมคุณภาพ จะจัดทำอย่างเป็นระบบ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอโดยเน้นการควบคุมคุณภาพในด้านองค์ประกอบของการสอนทางไกล เช่น ขั้นตอนการวางแผน กระบวนการเรียนการสอน วิธีการประเมินผล และการปรับปรุงกระบวนการ เป็นต้น
5. การติดต่อระหว่างผู้เรียน ผู้เรียนและสถาบันการศึกษาเป็นการติดต่อแบบ 2 ทาง โดยใช้โทรศัพท์ โทรสาร ไปรษณีย์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือจดหมาย เป็นต้น

ลักษณะของการศึกษาทางไกล

                 1. การเรียน – การสอน การศึกษาทางไกลต้องอาศัยครู และอุปกรณ์การสอนที่สามารถใช้สอนนักเรียนได้มากกว่า 1 ห้องเรียน และได้ในหลายสถานที่ เช่น วิชาพื้นฐาน ทำให้ไม่ต้องจ้างครูและอุปกรณ์สำหรับการสอนในวิชาเดียวกันของแต่ละแห่ง และครูสามารถเลือกให้นักเรียนแต่ละแห่งถามคำถามได้
2. การถาม – การตอบ หากนักเรียนมีปัญหาข้อสงสัย สามารถถามครูได้โดยผ่านโทรศัพท์หรือผ่านกล้องโทรศัพท์ หรือผ่านกล้องวีดิทัศน์ในระบบการประชุมทางไกล ในขณะที่เรียนหรือส่งโทรสาร ไปษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ไปถามได้ภายหลัง หรือครูอาจจะนัดเวลาเป็นการเฉพาะเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม
3. การประเมินผล ผู้เรียนสามารถส่งการบ้านและการทดสอบได้ทางไปรษณีย์ โทรสารหรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ทั้งนี้รูปแบบและวิธีการประเมินผลจะต้องได้รับการออกแบบเฉพาะ หรืออาจจะใช้การประเมินผลในรูปแบบปกติในห้องเรียน ให้ผู้เรียนไปทดสอบ ณ สถานที่ ที่จัดไว้ให้ เพื่อผสมผสานกันไปกับการเรียนทางไกล



สื่อในการศึกษาทางไกล

สื่อที่ใช้ควรเป็นสื่อที่มีการเสริมแรงให้กำลังใจและให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ความก้าวหน้าของตนเองเป็นระยะๆ การใช้สื่อในการเรียนแบบนี้ควรอยู่ในลักษณะสื่อประสม โดยมีสื่อหนึ่งเป็นสื่อหลักและมีสื่อชนิดอื่นเป็นสื่อเสริมเพราะสื่อแต่ละอย่างต่างก็มีข้อดีข้อจำกัดในตนเอง การศึกษาจากสื่อชนิดเดียว อาจทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรจึงจะต้องอาศัยสื่อชนิดอื่นประกอบด้วยเพื่อเป็นการเสริมความรู้ สื่อที่ใช้ในการศึกษาทางไกลแยกออกเป็น
สื่อหลัก คือ สื่อที่ผู้เรียนสามารถใช้ศึกษาด้วยตนเองตลอดเวลาและทุกสถานที่ ส่วนมากจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น ตำรา เอกสารคำสอน หรือคู่มือเรียน
สื่อเสริม คือ สื่อที่จะช่วยเก็บตก ต่อเติมความรู้ให้แก่ผู้เรียนให้มีความรู้ที่กระจ่างสมบูรณ์ขึ้น สื่อประเภทนี้จะอยู่ในรูปแบบของเทปสรุปบทเรียน วิทยุ การสอนเสริม เป็นต้น
การจัดการเรียนการสอนในระบบการศึกษาทางไกลให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ควรใช้สื่อที่รูปแบบของ "สื่อประสม"เพราะช่วยให้การถ่ายทอดความรู้และเนื้อหาสาระเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากการใช้สื่อประสมแล้ว สื่อที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ”สื่อบุคคล” ซึ่งอาจเป็นกลุ่มผู้นำ ผู้ทบทวนบทเรียน หรือผู้สอนเสริม ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พบปะวิทยากรที่มีความรู้





การศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบกับการศึกษาทางไกล
     
                        1) การศึกษาในระบบ คือการที่ผู้เรียนมาเรียนในชั้นเรียนปกติมีผู้สอนอยู่ในชั้นเรียน สำหรับการศึกษาทางไกลมีลักษณะที่ผู้เรียนและผู้สอนไม่ได้อยู่ประจันหน้ากัน ผู้สอนจะอยู่ห่างไกลจากชั้นเรียนออกไป การศึกษาทางไกลสำหรับการศึกษาในระบบระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา ซึ่งดำเนินการโดยกรมสามัญศึกษา และในระดับอุดมศึกษาได้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร สถาบันราชภัฏสวนดุสิต เป็นต้น
       2) การศึกษานอกระบบ จะเป็นลักษณะของการศึกษาที่ไม่มีเวลาเรียนแน่นอน ไม่มีการกำหนดอายุของผู้เรียน ผู้เรียนจะมาเข้าชั้นเรียนหรือไม่ก็ได้ การเรียนการสอนอาจจะมาพบกัน ณ ศูนย์บริการวิชาการหรืออาจจะเรียนผ่านรายการโทรทัศน์ที่บ้าน จะมีการสอนในระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา ซึ่งดำเนินการโดยกรมการศึกษานอกโรงเรียน ส่วนในระดับอุดมศึกษาก็ได้แก่ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


     
                การศึกษาทางไกล จบแล้วได้อะไร ?
                       ผู้ที่เรียนทางไกล ตามหลักสูตรประเภทการศึกษาต่อเนื่อง ที่ผ่านการวัดผลประเมินผลตามวิธีการและเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับ วุฒิบัตร ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ดังนี้
  • เพิ่มคุณสมบัติ หรือ ศักยภาพในการสมัครงานและปฏิบัติงานในสถานประกอบการ
  • เทียบโอนความรู้เข้าสู่หลักสูตรอื่น ๆ ตามเกณฑ์ และ วิธีที่แต่ละสถานศึกษากำหนด
              
                   การศึกษาทางไกล ค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร ?
                   การสมัครและลงทะเบียน เรียนทางไกล ในแต่ละหลักสูตร ผู้สมัครจะต้องชำระค่าลงทะเบียนซึ่งประกอบด้วย ค่าสมัครเรียน ค่าบำรุงการศึกษา ค่าชุดการเรียนทางไกลและสื่อประกอบ ค่าเข้าร่วมกิจกรรมก่อนจบหลักสูตร ซึ่งจะมีค่าลงทะเบียนแตกต่างไปตามเนื้อหาและกระบวนการการเรียนการสอนของแต่ละหลักสูตร
แนะนำหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนของ การศึกษาทางไกล ในปัจจุบัน
  • การจัดการนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ
  • การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
  • เซียนกล้อง : พื้นฐานการถ่ายภาพเส้นทางสู่มืออาชีพ
  • ภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร
  • ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
  • เส้นสร้างสรรค์ : ทุกคนทำได้






ขอบคุณข้อมูลจาก :
หนังสือเทคโนโลยีการศึกษาและนวัตกรรม